“ของจิ๋ว” และการหาสเกล

เรื่องสเกลนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการจะทำ “ของจิ๋ว” ให้ออกมาได้สัดส่วนกันทุกองค์ประกอบ จำเป็นต้องรู้สเกลเริ่มต้นให้ได้ก่อนว่าเป้าหมายของการทำ ต้องการทำชิ้นงานออกมาสเกลเท่าไหร่ ซึ่งมีหลากหลายสเกลแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าต้องการทำชิ้นงานทุกชิ้นให้เป็นสเกล 1:12 วิธีการง่ายๆก็คือใช้ไม้บรรทัดหรือตลับเมตรไปวัดขนาดของที่ต้องการจะย่อส่วนชิ้นนั้นๆ เช่นต้องการปั้นแอ็ปเปิ้ลซัก 1 ลูก ก็ไปหาซื้อแอ็ปเปิ้ลจริงๆมาเลยแล้วลองวัดขนาดดูว่ามีความโตกี่ซม. หรือกี่ มม. ( เลือกเอาซักหน่วยใดหน่วยหนึ่งว่าถนัดวัดเป็นหน่วยไหน) แต่ก็มีข้อแนะนำว่าถ้าของชิ้นเล็กๆก็ควรวัดเป็น มม. แต่ถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ๆเช่นโต๊ะ เก้าอี้ ก็ควรวัดเป็น ซม.

ในที่นี้แอ็ปเปิ้ลลูกนิดเดียวก็วัดเป็น มม. จะเหมาะกว่า สมมุติว่าแอ็ปเปิ้ลกาล่า หรือฟูจิ ที่ซื้อมาวัดความโตของลูกแอ็ปเปิ้ลได้ 70 มม. (หรือ 7 ซม.) ต้องการปั้นให้เป็นสเกล 1:12 จะต้องปั้นให้แอ็ปเปิ้ลมีความโตกี่ มม.?

วิธีคิดก็คือ เอาค่าที่วัดได้จริง คือ 70มม. ตั้ง หารด้วย 12 ค่าที่ออกมาคือ 5.8 มม. นั่นคือขนาดที่ต้องปั้นเพื่อให้ได้สเกล 1:12

ในทางปฏิบัติก็คงต้องปั้นประมาณ 6 มม. หรือมากกว่านิดหน่อย เผื่อการหดตัวของดิน ซึ่งปรกติจะมีอัตราการหดตัวประมาณ 10%

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือถ้าต้องการปั้นแอ็ปเปิ้ลสเกล 1:6 วิธีคิดก็คือ
เอา 70 ตั้ง หารด้วย 6 ค่าที่ได้คือ 11.7 มม. ในทางปฏิบัติก็ปั้นแอ็ปเปิ้ลให้โต 12 มม. นั่นเอง

สำหรับคนที่เล่นตุ๊กตา หรือโมเดลแต่ไม่รู้ว่าตุ๊กตาหรือโมเดลที่เราเล่นอยู่นั้นมันสเกลเท่าไหร่ ก็มีวิธีคิดอย่างนี้ครับ

ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าโมเดลนั้นเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ สมมุติว่าเป็นโมเดลเด็กหญิงอายุซักประมาณ 10-11 ขวบ ให้วัดความสูงของโมเดลดูว่าสูงกี่เซน เช่นวัดได้ 12 เซน เสร็จแล้วก็ลองไปจับเด็กๆอายุประมาณ 10-11 ขวบมาวัดส่วนสูงดูครับ (อาจเป็นน้อง เป็นลูกเป็นหลานตัวเองก็ได้ครับ) สมมุติวัดได้ 120 เซน

วิธีคิดว่าโมเดลนี้สเกลเท่าไหร่ก็คือ เอาค่าที่วัดได้จริง คือ 120 เซน หารด้วย ค่าที่วัดได้จากโมเดลคือ 12
ผลที่ออกมาคือ 10 แสดงว่าโมเดลนี้มีสเกล 1:10 ครับ

เมื่อเรารู้ว่าโมเดลเราสเกล 1:10 ทีนี้ก็ถึงเวลาไปหาของมาเล่นกับโมเดลของเรา ของที่เราจะหาก็จะต้องมีสเกล 1:10 เหมือนกัน สัดส่วนจึงจะเข้ากันได้แบบสวยงามสมจริง

เช่นต้องการแอ็ปเปิ้ลซักหนึ่งลูกก็จะต้องไปหาแอ็ปเปิ้ลที่มีขนาดโตประมาณ  7 มิล (ได้จาก 70 หารด้วย 10 )
หรือต้องการจานอาหารซักหนึ่งจานซึ่งเราก็ต้องรู้ก่อนว่าจานจริงๆมันโตประมาณกี่เซน

สมมุติว่าวัดได้ 25 เซน แสดงว่าเราต้องไปหาจานขนาด 2.5 เซน (ได้จากเอา 25 ตั้ง หารด้วย 10) จึงจะได้จานในสเกล 1:10 เหมือนกับตัวโมเดล
ถ้าใช้หลักการนี้ได้ทุกชิ้น เวลามาจัดเข้าชุดกันแล้วภาพรวมๆจะออกมาสวยและดูสมจริงครับ

กรณีที่ไม่สามารถหาของในสเกลที่ต้องการเป๊ะๆได้ ก็อาจใช้สเกลที่ใกล้เคียงแทนได้ เช่น สเกล 1:10 ก็อาจใช้ 1:12 ทดแทนได้ครับ หรือสเกล 1:6 ก็อาจใช้ 1:8 แทนได้อย่างนี้เป็นต้น

เขียนอธิบายมาแบบยืดยาวก็เพื่อให้คนที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสเกลได้เข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อจะได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสเกลนี้เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะลงมือทำในขั้นตอนอื่นๆต่อไปและเพื่อให้ “ของจิ๋ว” ที่ทำออกมามีสัดส่วนเหมาะสมสวยงามครับ